This is Tandhava
วิธีจัดการความทุกข์
วิธีจัดการกับความทุกข์
วันนี้เรามาหาวิธีจัดการกับความทุกข์กันค่ะ
ใครๆ ก็อยากมีความสุข ความสบาย ไม่อยากจะพบกับความทุกข์อะไรทั้งนั้น เพราะความทุกข์เป็นพลังในทางลบ ทำให้เราเศร้า เครียด อึดอัด คับข้องใจ ผิดหวัง หมดอาลัยตายอยาก ไร้พลังสร้างสรรค์ รู้สึกไม่แฟร์ (ไม่ได้รับความยุติธรรม) ผิดแผน ไม่ได้ดังใจ บางคนก็ถึงขั้นเศร้าโศก เสียใจ หาทางออกไม่ได้ หมกมุ่นครุ่นคิดอยู่ในวังวนของเรื่องเก่าๆ บางคนหยุดความทุกข์ไม่ได้จนอยากจบชีวิตเพื่อให้ความทุกข์นั้นจบลง
ความทุกข์ตามปรัชญาตะวันออก
เรามาทำความรู้จักกับความทุกข์กันค่ะ เราต้องอ้างอิงวิชาการไว้สักหน่อยเพื่อให้เป็นหลักการ ความทุกข์มีมาตั้งแต่มีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ และปรัชญาตะวันออก มีกการแบ่งความทุกข์หลายวิธี แต่ละวิธีก็มีประเภทที่ไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน เรามากวาดสายตาดูคร่าวๆ กันค่ะ ว่าความทุกข์ของคนในโลกแถบตะวันออกเขาแบ่งอย่างไรกันบ้าง
ความทุกข์ 3 ประการ (ตามปรัชญาตะวันออก)
อาธยาตมิกะ : -
ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ เกิดจากการผิดปกติขององค์ประกอบของตนเอง เช่น อวัยวะทำงานไม่ปกติ จิตใจไม่เป็นปกติ
อธิเภาติกะ : -
ความทุกข์เกิดจากถูกกระทำจากภายนอก เกิดจากการโดนทำร้ายจากสัตว์หรือมนุษย์ด้วยกัน
อธิไทวิกะ : -
ความทุกข์ที่เกิดจากเหตุเหนือวิสัยปกติ เช่น ธรรมชาติ (ร้อน, เย็น, ลม, ฝน ฯลฯ), กรรมเก่า, ภูติ, ผี, ปีศาจ, วิญญาณ หรือ เวทย์มนตร์ไสยศาสตร์ เป็นต้น
ความทุกข์ตามหลักพุทธศาสนา
พุทธศาสนากับความทุกข์
ความทุกข์ตามหลักพุทธศาสนา เนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ เรามาดูหลักพุทธศาสนากันค่ะ
พุทธศาสนาแบ่งทุกข์ออกเป็น 11 ชนิดย่อย โดยมี 2 ประเภทใหญ่ๆ
ก. สภาวทุกข์ คือ ทุกข์ที่เกิดเป็นประจำ
1 ชาติ – การเกิด
2 ชรา – ความแก่
3 มรณา – ความตาย
ข. ปกิณณกทุกข์ คือทุกข์ที่มาเป็นครั้งคราว
4 โสกะ – ความแห้งผากของใจ
5 ปริเทวะ – ความคร่ำครวญ ร่ำไรรำพัน
6 ทุกข – ความลำบากทางกาย
7 โทมนัส – ความทุกข์ทางจิต
8 อุปายาส – ความแค้น ความคับแค้น
9 ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก
10 ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก
11 ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น
หลังจากที่เราทำความรู้จักกับประเภทต่างๆ ของความทุกข์กันแล้ว เราก็ต้องมาดูต่อไปอีกขั้น เพราะความทุกข์มันอยู่ลอยๆ ไม่ได้ เป็นความจริงที่ว่า “ความทุกข์ที่อยู่เฉยๆ ไม่มีใครมารองรับซัพพอร์ตมัน ความรู้สึกทุกข์ก็จะไม่มีทางเกิดขึ้น” ทีนี้เราก็มาศึกษาภาชนะใส่ความทุกข์กันค่ะ ว่าภาชนะรองรับสำหรับใส่หรือบรรจุ และเก็บความทุกข์ มีหน้าตาเป็นอย่างไรกันบ้าง
อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลเลยใช่ไหมคะ สิ่งรองรับซัพพอร์ตความทุกข์ทั้งหลายในโลกนี้ก็คือ “มนุษย์” เราทุกคนนั่นเอง ถ้ามนุษย์เป็นแค่ธาตุทั้งห้า ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ว่าง (บางตำราเรียกว่าอากาศ) ย่อมไม่เกิดความทุกข์ แต่มนุษย์มีความพิเศษเพราะมีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึกนึกคิด มีความรู้ประสบการณ์ และมีความปรารถนาต่างๆ นานา อีกด้วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจ “มนุษย์-ภาชนะของความทุกข์/ความสุข” เรามาดูองค์ประกอบมนุษย์ตามปรัชญาตะวันออกกันค่ะ
ปรัชญาเวทานตะ กล่าวไว้ว่ามนุษย์มีเปลือกที่ห่อหุ้มตัวตน ถ้าเราแกะออกดูเป็นชั้นๆ ชั้นนอกจะเป็นชั้นที่หยาบที่สุด และ ชั้นในจะมีความละเอียดมากขึ้น จนถึงละเอียดที่สุด ตามนี้นะคะ
- อันนามายะ โกศะ (กายภาพหรือกายหยาบ) ชั้นนี้ประกอบด้วย ธาตุทั้งห้า คือ ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ, ที่ว่าง (อากาศ) ; มีอวัยวะรับการสัมผัส คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, ผิวกาย ; และ อวัยวะทำงาน คือ ปาก, มือ, เท้า, ทวารหนัก/เบา, อวัยวะสืบพันธุ์ [อันนามายะโกศะ-เปลือกแห่งกายภาพ]
- ปราณามายะ โกศะ (ลมหายใจ) ชั้นนี้ประกอบด้วย ระบบประสาท (ที่ใช้รับสัมผัสภายนอกจากกายภาพ) ลมหายใจและพลังงานหรือพลังชีวิต [ปราณามายะโกศะ-เปลือกแห่งปราณ]
- มโนมายะ โกศะ (จิต-ความรู้สึกนึกคิด) เป็นชั้นที่มีความซับซ้อน ประกอบด้วยความปรารถนาและแรงจูงใจ [มโนมายะ โกสะ – เปลือกแห่งอารมณ์]
- วิญญาณามายะ โกศะ (พุทธิ-สติปัญญา) เป็นชั้นของสติสัมปะชัญญะ ความเชื่อ และแนวคิดที่ได้มาจากประสบการณ์ที่สั่งสมมา [วิญญาณามายะโกศะ-เปลือกแห่งวิญญาณ]
- อนันตมายะ โกศะ (บรมสุข) เป็นชั้นละเอียดอ่อนที่อยู่ภายในลึกที่สุด เป็นความสุขสงบที่อยู่ภายในมนุษย์ทุกคน ประกอบด้วย ความรัก (ที่ไร้เงื่อนไข), อิสระ (จากข้อจำกัด) และ ความสุข (นิรามิสุขจากภายในที่ไม่ขึ้นกับสิ่งภายนอกใดๆ) [อนันตมายะโกศะ-บรมสุขนิรันดร์]
เมื่อได้เห็นมนุษย์ซึ่งเป็นภาชนะของความทุกข์และความสุขกันแล้ว เราก็จะพอเข้าใจได้ว่า แต่ละคนมี
- ชั้นนอกเป็นอวัยวะภายนอกที่เรามองเห็นคล้ายกัน
- ชั้นที่สองมีพลังชีวิต มีลมหายใจ ประสาทสัมผัส คล้ายๆ กัน
- แต่พอถึงชั้นที่สาม คนเริ่มมี มโน ความรู้สึกนึกคิดที่สร้างขึ้นเองที่ทำให้แตกต่างกัน
- ยิ่งไปถึงชั้นที่สี่ คือวิญญาณ เป็นความเชื่อ หลักการ แนวคิดที่ มนุษย์สั่งสมมาจากประสบการณ์ที่ผ่านมาอันยาวนาน (รวมไปถึงชาติก่อนหน้านี้อีกไม่รู้กี่ชาติด้วย)
- ลึกที่สุดถึงชั้นที่ห้า เมื่อคนเราได้รู้จักตัวเองอย่างแท้จริงแล้ว ก็จะมาถึงชั้นนี้คือมีความสุขตามที่ตนเองเป็นอยู่, พอใจใส่สิ่งที่ตนมี, มีความรักให้กับสรรพสิ่งแบบไร้เงื่อนไข, เป็นอิสระจากข้อจำกัดใดๆ ทำให้เกิดความสงบ เย็น และทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อโลกใบนี้
ทีนี้เรามาดูว่าความทุกข์เกิดขึ้นที่ไหน? ภาชนะที่ไปรองรับความทุกข์เข้าไปรองรับและทำงานอย่างไร?
ชั้นที่หนึ่งและสอง เกิดความทุกข์ได้แบบกายภาพ คือ ถูกทำร้าย หิว กระหาย ร้อน หนาว ยังไม่เกิดความทุกข์หรือความเครียดต่างๆ ขึ้นในจิตใจ
ความทุกข์ใจทั้งหลายเกิดขึ้นในชั้นที่สามและสี่ คือ มโน และ วิญญาณ ชื่อก็บอกชัดอยู่แล้วว่าการมโนไปเองต่างๆ นานา ก็คือความคาดหวังนั่นเอง พอเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่มโนหรือคาดหวังไว้ หรือผิดไปจากหลักการความเชื่อในชั้นที่สี่ ก็เกิดอาการไม่สบอารมณ์ ไม่พอใจ เกิดความเครียด ความคับแค้น ความเกลียดชัง ความโลภอยากได้อยากมี ความเคียดแค้น พยาบาท มุ่งร้าย โศกเศร้า เสียใจ หรือความหลงผิดมัวเมาต่างๆ ก่อให้เกิดการกระทำที่ฉ้อฉล คดโกง คอรัปชั่น ฯลฯ ส่งผลร้ายไปถึงกายภาพ สุขภาพร่างกายเกิดความดันโลหิตผิดปกติ (บางคนต่ำ บางคนสูง) หายใจถี่ตื้น หัวใจเต้นแรงและเร็วขึ้น ไมเกรน นอนไม่หลับ ถ้าเกิดความทุกข์นานๆ เข้า ก็จะเป็นการบั่นทอน ร่างกายให้ทรุดโทรม และ บั่นทอนวิญญาณให้เศร้าหมอง เพราะสะสมแต่ประสบการณ์อันไม่น่ารื่นรมย์แห่งความทุกข์
ในทางศาสนา ความทุกข์ทั้งหลายที่กัดกร่อน มโน (จิต) และวิญญาณ ทำให้เราอยู่ในความเวียนว่ายตายเกิด (วัฏสงสาร) ไม่อาจหลุดพ้นจากความทุกข์และจิตวิญญาณไม่สุขสงบเยือกเย็นเป็นศานติได้
พอเราสังเกตดูตามหลักปรัชญานี้แล้ว จะเห็นได้ว่า ความทุกข์ทั้งหลายไม่สามารถเข้าไปถึงชั้นที่ห้า (อนันตะมายะ) ได้เลย ไม่มีทุกข์หรือความสนุกสนานเพลิดเพลินในทางโลกียะ จะสามารถเข้าไปทำให้ชั้นภายในที่สุดของมนุษย์นั้นเกิดความมัวหมองได้แม้แต่น้อย อาจารย์หลายท่านจึงเคยกล่าวว่าจิตเดิมนั้นเป็นประภัสสรผ่องใสบริสุทธิ์ผุดผ่อง ตามที่พระพทุธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่หมู่แห่งภิกษุ “ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ.” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ประภัสสร ได้มัวหมองแล้วเพราะกิเลสเป็นอาคันตุกะจรเข้ามา”
เพราะฉะนั้นแล้ว เราก็สรุปได้ว่า ความทุกข์นั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ไม่ว่าทุกข์นั้นจะมากจากกิเลสพื้นฐาน ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น
- ความโลภ – ก่อความทุกข์ด้วยพลังดึดดูดเข้าหาตัว เช่น อยากให้ใครคนนั้นมารักมาเอาใจใส่ อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ อยากเลื่อนขั้น อยากได้งานดีๆ มีเงินใช้มากๆ อยากกินหรูอยู่แพง อยากจะโมหน้าให้เหมือดาราเกาหลี ฯลฯ
- ความโกรธ – ก่อความทุกข์ด้วยแรงผลักออกไปจากตัว เช่น ความเครียด ทำงานไม่ได้ตามแผน ความน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่อยากโดนเจ้านายด่า ไม่อยากอยู่บ้าน ไม่ชอบหน้าคนนี้เลย ทำอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจสักอย่าง ฯลฯ
- ความหลง – ก่อความทุกข์เพราะไม่แบ่งแยกถูกผิด เช่น เรื่องถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง รู้ว่าผิดแต่ติดใจไปแล้ว ฯลฯ
ความทุกข์ทั้งหมดนี้อยู่กับมนุษย์แค่ที่เปลือกเท่านั้น ไม่สามารถทำร้ายจิตใจส่วนลึกที่สุด (อานันตะมายะ) ของเราได้เลย แค่เราตั้งสติมองโลกให้เห็นสถานการณ์แต่ละช็อต พิจารณาให้เห็นเหตุการณ์ช้าลง ทบทวน แล้วจะพบว่าทั้งความทุกข์และความสุขนั้น แท้จริงแล้วก่อตัวขึ้นเหมือนคลื่นในทะเล ซัดไปมาทั้งเบาบางและโหมกระหน่ำ และ คลื่นแห่งความทุกข์และความสุขก็สงบลงในที่สุด โดยที่ทะเล (หรือตัวเรา) ไม่เคยได้อะไรเพิ่มเติม และไม่เคยสูญเสียสิ่งใดไปอย่างแท้จริง
สุขและทุกข์ที่เรายึดถือนั้นที่แท้เป็นเพียงมายาที่จิตของเรามโนไปเอง เราจึงสามารถถอยออกจากความทุกข์นั้นได้เสมอ เพียงแค่
- “หยุด” คิดหมกมุ่นกับความทุกข์นั้นสัก 2-3 นาที
- ใช้สติ “พิจารณาว่าแท้จริงแล้วจิตเดิมนั้นไม่เคยมีทุกข์มาก่อน” สิ่งที่ก่อเป็นความทุกข์นั้นเกิดขึ้นจากมโนของเราเอง
- อะไรคือ “ความคาดหวัง” ของเราต่อเรื่องนี้?
- สิ่งที่เราคาดหวังในเรื่องนี้มัน “เป็นไปได้” แค่ไหน?
- ให้ข้อ “สรุป” กับตัวเอง คือ
- สิ่งที่คาดหวัง เป็นไปไม่ได้ ล้มเลิกมันเสีย
- สิ่งที่คาดหวัง เป็นไปไม่ได้ ทำให้ดีที่สุดก็พอ
- สิ่งที่คาดหวัง ยังพอเป็นไปได้ ทำดีที่สุด และยอมรับผลของมัน
- สิ่งที่คาดหวัง ยังพอเป็นไปได้ แต่ทำแล้วไม่คุ้ม ล้มเลิกมันเสีย
- ไม่คาดหวังผล ทำดีที่สุด ก็เพียงพอแล้ว
- …..
เพียงเท่านี้ เราก็จะเห็นความทุกข์ก็เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่ก่อตัวขึ้นเหมือนพรายฟองที่ยอดคลื่นในมหาสมุทร ถูกซัดไปมา และด้วยการพิจารณาอย่างมีสติ ฟองนั้นก็จะลดระดับลงตามคลื่นที่ค่อยๆ สงบลง และกลืนหายไปเป็นหนึ่งเดียวกับมหาสมุทรในที่สุด
ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ ขอให้ทุกท่านพร้อมรับมือกับความทุกข์ครั้งต่อไป และมีแต่ศานติสุขในชีวิตค่ะ