ปีชง
วิเคราะห์ปีชงด้วยโหราศาสตร์ไทย
ตาณฑวะพยากรณ์
The story of
ปีชง
วันนี้ อาจารย์ก็ถือโอกาสเอาเรื่องปีชงมาเล่าสู่กันฟัง เพราะนี่ก็ใกล้จะถึงวันไหว้แก้ชง คือ “วันขึ้น 9 ค่ำเดือน 1 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 1 ตามปฏิทินจีน” สำหรับปี พ.ศ. 2565 นี้ ก็คือ “วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ถึง วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565” ท่านใดที่ตั้งใจจะไปแก้ชง ก็ต้องเตรียมตัวกันแล้วนะครับ แต่ในยุคปัจจุบันก็มีการอะลุ้มอล่วยให้ไหว้ก่อนหรือหลังวันที่กำหนดตามประเพณีดั้งเดิมได้ เนื่องจากจำเป็นต้องลดความแออัดตามวิถี new normal และบางท่านก็อาจทำพิธีที่บ้านโดยใช้รูปของเทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยตามสื่อออนไลน์แทนการเดินทางไปที่วัดก็ได้
ความรู้เรื่องปีชง มีอาจารย์ผู้รู้ต่างๆ บอกเล่ากันไว้แล้วอย่างมากมาย แต่วันนี้อาจารย์จะเล่าเรื่องปีชงให้ฟังในแง่มุมของโหราศาสตร์ เพื่อให้ผู้ที่รับชมสามารถจดจำและนำไปใช้ได้ ไม่ต้องรอฟังข่าวว่าปีนี้ใครชง เพราะเมื่อเราวิเคราะห์กันด้วยโหราศาสตร์ เข้าใจความหมายของการชงแล้ว ก็จะสามารถนับปีชงได้ด้วยตัวเอง และเราก็สามารถรู้ได้ว่า “ปีที่ชงกับเราคือปีใด ?” หรือ “คนที่ชงกับเราคือใคร ?” เพื่อที่เราจะได้นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงของเราต่อไปนะครับ
- ปีชง - นับไป 6 ปี นักษัตร
- ปีคัก - ปีเดียวกัน
- ปีเฮ้ง - นับไป 3 ปี นักษัตร
- ปีผั่ว - นับย้อนกลับ 3 ปี นักษัตร
เทพเจ้าผู้คุ้มครองดวงชะตา ไท้ส่วยเอี๊ย - ดาวพฤหัสบดี
วิเคราะห์ปีชงด้วยโหราศาสตร์
ปีชงนั้นนับตามปีนักษัตรจีน เป็นศาสตร์ที่มาจากวิชาโหราศาสตร์จีน ซึ่งเชื่อว่ามีเทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย 60 องค์ เป็นผู้คุ้มครองดวงชะตา 1 องค์ดูแล 1 ปีนักษัตร เมื่อครบ 5 รอบ หรือ 60 ปี ก็จะวนรอบให้องค์แรกเข้ามาคุ้มครองใหม่ ดังนั้น เมื่อคนจีนมีอายุครบ 60 ปี จึงมีการฉลองแซยิด เพราะถือว่าเป็นคนที่มีบุญมากได้อยู่จนครบการคุ้มครองจากเทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยทั้ง 60 องค์ และจัดงานฉลองเพื่อเริ่มรอบใหม่นั่นเอง ปีเกิดของคนคนหนึ่ง จะถือว่าเป็นการกำหนดดวงชะตาและเทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยของบุคคลคนนั้น ซึ่งเมื่อนำมาเทียบกับโหราศาสตร์ไทยก็คือดวงดาวรายปีที่ให้คุณบริสุทธิ์ คือ “ดาวพฤหัส” ซึ่งเป็นดาวศุภเคราะห์ให้คุณแบบนุ่มนวล กล่าวกันว่าถ้าดาวเสียทั้งกระดาน แม้มีพฤหัสดีเพียงดวงเดียวก็ช่วยให้แคล้วคลาดรอดจากภยันตรายได้ พฤหัสจึงถือเป็นเทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตาของโหรศาสตร์ไทยเช่นกัน เมื่อพิจารณาดาวพฤหัสเป็นดาวพระเคราะห์คุ้มครองดวงชะตาแล้ว เป็นที่น่าสังเกตุว่า ทุกๆ ปีชวด ดาวพฤหัสจะอยู่ที่ราศีธนู แม้ว่าลีลาการเดินของดาวพฤหัส จะมีการ เดิน ปกติ มนฑ์ พักร์ เสริต (คือเดินหน้า ถอย หยุด เดินเร็ว) สลับกันไปโดยไม่แน่นอน แต่ก็ยังมีความเร็วเฉลี่ยเท่ากับ 1 ปี ต่อ 1 ราศี ดังนั้น เราจึงวางปีนักษัตรไว้ตามตำแหน่งดาวพฤหัส ดังนี้
ปีนักษัตร
ราศีที่ดาวพฤหัสสถิตในปีนักษัตรต่าง ๆ
เราก็จะเห็นได้ว่า เริ่มที่ดาวพฤหัสอยู่ที่ราศีธนูเป็นปีแรก
- ปีที่ดาวพฤหัสอยู่ที่ราศีธนู คือ ปีชวด (รูปหนู)
- ปีที่ ดาวพฤหัสอยู่ที่ราศีมังกร คือ ปีฉลู (รูปวัว)
- ปีที่ ดาวพฤหัสอยู่ที่ราศีกุมภ์ คือ ปีขาล (รูปเสือ)
- ปีที่ ดาวพฤหัสอยู่ที่ราศีมีน คือ ปีเถาะ (รูปกระต่าย)
- ปีที่ ดาวพฤหัสอยู่ที่ราศีเมษ คือ ปีมะโรง (รูปงูใหญ่-มังกร)
- ปีที่ ดาวพฤหัสอยู่ที่ราศีพฤษภ คือ ปีมะเส็ง (รูปงูเล็ก)
- ปีที่ ดาวพฤหัสอยู่ที่ราศีมิถุน คือ ปีมะเมีย (รูปม้า)
- ปีที่ ดาวพฤหัสอยู่ที่ราศีกรกฎ คือ ปีมะแม (รูปแพะ)
- ปีที่ ดาวพฤหัสอยู่ที่ราศีสิงห์ คือ ปีวอก (รูปลิง)
- ปีที่ ดาวพฤหัสอยู่ที่ราศีกันย์ คือ ปีระกา (รูปไก่)
- ปีที่ ดาวพฤหัสอยู่ที่ราศีตุลย์ คือ ปีจอ (รูปสุนัข)
- ปีที่ ดาวพฤหัสอยู่ที่ราศีพิจิก คือ ปีกุน (รูปหมู)
ปีชวด
ปีชวด ดาวพฤหัสอยู่ที่ราศี พิจิก-ธนู-มังกร
เมื่อได้ปักหมุดให้กับปีนักษัตรตามจักราศีแล้ว เราจะมาดูการโคจรที่แท้จริงของดาวพฤหัส ตามที่อาจารย์ได้เกริ่นในตอนต้นแล้วว่าการโคจรของดาวพฤหัสนั้นมีทั้งเดินปกติ มนฑ์ พักร์ เสริต ทำให้ในปีชวดนั้นดาวพฤหัสจะมีโอกาสอยู่ที่ ราศีพิจิกครึ่งหนึ่ง + ราศีธนู + ราศีมังกรครึ่งหนึ่ง
ปีฉลู
ปีฉลู ดาวพฤหัสอยู่ที่ราศี ธนู-มังกร-กุมภ์
ในทำนองเดียวกัน เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น อาจารย์จะยกตัวอย่างปีฉลู ว่าดาวพฤหัสผู้คุ้มครองดวงชะตาจะโคจรอยู่ใน 3 ราศี เพราะลีลาการเดิน ปกติ มนฑ์ พักร์ เสริต ของดาวพฤหัส ดังนั้นในปีฉลู ดาวพฤหัสจะอยู่ใน ราศีธนูครึ่งหนึ่ง + ราศีมังกร + ราศีกุมภ์ครึ่งหนึ่ง
ปีขาล
ปีขาล ดาวพฤหัสอยู่ที่ราศี มังกร-กุมภ์-มีน
ทีนี้ก็มาถึงปีปัจจุบัน คือ ปีขาล พิจารณาตำแหน่งดาวพฤหัสของปีขาล จะอยู่ 3 ราศี คือ มังกรครึ่งหนึ่ง + ราศีกุมภ์ + ราศีมีนครึ่งหนึ่ง ตามที่อาจารย์ได้อธิบายแล้วนะครับ
ปีชง
ปีที่ดาวพฤหัสเป็นอริ-มรณะแก่กัน
ปีชง ของจีนถือว่าเป็นปีที่ชีวิตมีแต่อุปสรรค ติดขัด การดำเนินชีวิตไม่ราบรื่น และมีการถือ เช่น คนปีชงควรหลีกเลี่ยงการไปร่วมงานศพ เพราะเชื่อกันว่าดวงไม่ดี จะโชคร้ายหรือเจ็บป่วยได้ ตอนนี้เราก็มาดูปีชงในทางโหราศาตร์ไทยกัน “ปีชง คือ ปีที่ดาวพฤหัสเป็นอริ-มรณะแก่กัน” ซึ่งก็คือปีขาล (เสือ) ชงกับปีวอก (ลิง) หรือเป็นปีตรงข้ามกันในจักราศี ถ้าดูตามกราฟฟิกที่อาจารย์เตรียมไว้ ก็จะสามารถเข้าใจได้อย่างง่ายดายเลยครับ ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนจีนสมัยก่อนเข้าจะห้ามไม่ให้คู่แต่งงานมีอายุห่างกัน 6 ปี เพราะถือว่าชงแบบเต็มๆ คือ คิดเห็นอะไรไม่ตรงกัน ขัดแย้งกันไปหมด ใช้ชีวิตด้วยกันลำบากครับ หลักการดูปีชงด้วยจักรราศีนี้สามารถนำไปใช้ได้กับทุกปีนักษัตรเลยนะครับ อยากรู้ว่าใครชงปีไหน ก็คือคู่ที่อยู่ตรงข้ามกันนั่นเอง
ปีคัก
ปีที่ดาวพฤหัสตกช่องวินาศะ
เมื่อพูดถึงปีชง ก็จะมีคำที่พูดถึงบ่อยๆ เกี่ยวกับการชง ก็คือ ชงครึ่งเดียว – ชงไม่เต็ม – ชงร่วม อาจารย์ก็เห็นว่าเมื่อเข้าใจเรื่องปีชงแล้ว ปีที่ชงครึ่งเดียวก็สามารถทำความเข้าใจต่อไปได้เลย ตามนี้นะครับ
ปีคัก ของจีน คือการชงกับตัวเอง ในทางโหราศาสตร์ไทย การชงครึ่งเดียว หรือ “ปีคัก คือ ปีที่ดาวพฤหัสตกช่องวินาศะ” เมื่อดูตามกราฟฟิกตัวอย่าง ปีคักก็คือปีขาลเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่าดาวพฤหัสตกวินาศะไปถึงค่อนปี สำหรับปีนักษัตรอื่นๆ ก็สามารถนับปีคักจำได้ง่ายๆ ก็คือปีเดียวกันนั่นเองครับ
ปีเฮ้ง
ปีที่ดาวพฤหัสตกช่องพันธุ
การชงครึ่ง – ชงร่วม อีกแบบหนึ่ง คือ ปีเฮ้ง ของจีนถือว่าเป็นปีที่ได้รับผลจากเคราะห์กรรม ในทางโหราศาสตร์ไทย การชงครึ่งเดียว หรือ “ปีเฮ้ง คือ ปีที่ดาวพฤหัสตกช่องพันธุ” เมื่อดูตามกราฟฟิกตัวอย่าง ปีเฮ้งของปีขาลก็คือปีมะเส็ง ซึ่งจะเห็นได้ว่าดาวพฤหัสตกพันธุ (ความดิ้นรนขวนขวายพยายาม) สำหรับปีนักษัตรอื่นๆ ก็สามารถนับปีเฮ้งจำได้ง่ายๆ โดยการนับต่อไปอีก 3 ปีนักษัตร นั่นเองครับ
ปีผั่ว
ปีที่ดาวพฤหัสตกช่องกรรมะ
การชงครึ่ง – ชงร่วม อีกแบบหนึ่ง คือ ปีผั่ว ของจีนถือว่าเป็นปีที่ได้รับผลกระทบในเรื่องสุขภาพ ในทางโหราศาสตร์ไทย การชงครึ่งเดียว หรือ “ปีผั่ว คือ ปีที่ดาวพฤหัสตกช่องกรรมะ” เมื่อดูตามกราฟฟิกตัวอย่าง ปีผั่วของปีขาลก็คือปีกุน ซึ่งจะเห็นได้ว่าดาวพฤหัสตกกรรมะ (การงาน-สิ่งที่ต้องกระทำ) สำหรับปีนักษัตรอื่นๆ ก็สามารถนับปีผั่วซึ่งจำได้ง่ายๆ โดยการนับถอยหลังไปอีก 3 ปีนักษัตร นั่นเองครับ
ตารางปีชง
การไหว้แก้ชง
สำหรับท่านที่ถนัดการดูตาราง สามารถดูตารางปีชงตามที่อาจารย์เตรียมไว้ได้เลยครับ
การแก้ชง ตามธรรมเนียมของจีน ก็คือการไหว้เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา ไท้ส่วยเอี๊ย ซึ่งจะมีการสร้างเทวรูปให้ไปสักการะบูชาที่วัดจีน ศาลเจ้าจีน เช่น วัดมังกร วันโพธิ์แมน ศาลเจ้านาจา เป็นต้น โดยใช้ของไหว้ ดังนี้
- ดอกไม้สด 1 คู่
- เทียนแดง 1 คู่
- ธูป 3 ดอก
- หงิ่งเตี๋ย (กระดาษเงินกระดาษทอง) 13 ชุด
- เทียงเถ่าจี้ (กระดาษแดงเขียนอักษรมงคล) 1 คู่
- กิมหงิ่งเต้า (กระดาษถังเงินถังทอง) 1 คู่
- แจ่ไฉ่ (อาหารเจ 5 อย่าง เช่น เห็ดหอม เห็ดหูหนู เต้าหู้ วุ้นเส้น เป็นต้น)
- ถั่วลิสง 25 เม็ด
- พุทราแดง 25 เม็ด
- ขนมโก๋ 5 ชิ้น
- น้ำชา 5 ถ้วย
- ข้าวสวย 5 ถ้วย
แต่ในปัจจุบันของไหว้แก้ชงนั้น ทางวัดจะจัดเตรียมไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ประสงค์จะเข้าไปสักการะเพื่อแก้ชง วิธีการทั้งหมดก็ไม่ยากเลยนะครับ แค่ทำตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำก็สำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว แต่อาจารย์ก็ถือว่าเล่าสู่กันฟังเป็นความรู้ตามนี้ครับ เมื่อเราไปถึงวัดก็ไปแจ้งความประสงค์ว่าจะมาแก้ชง ทางวัดก็จะมอบ “ใบฝากดวงปีชง” หรือ “เทียบแดง” สำหรับเขียนชื่อ-นามสกุล และวันเดือนปีเกิด และเขียนพระนามขององค์ไท้ส่วยประจำปี 2565 (ห่องักไต่เจียงกุง) ลงไปบนกระดาษ เสร็จแล้วเดินถือเครื่องแก้ชงไปวางตามจุดที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ แล้วจุดธูปเทียนไหว้ไท้ส่วยเอี๊ย ปักธูปเทียนตามจุดที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ให้ จากนั้นนำใบฝากดวงแก้ปีชงพร้อมกระดาษเงินกระดาษทอง (หงิ่งเตี๋ย) ปัดออกจากตัวเอง จำนวนกี่ครั้งแล้วแต่ที่วัดจะแนะนำนะครับ บางแห่ง 12 บางแห่ง 13 บางแห่งให้ปัดเท่าจำนวนอายุก็มี เมื่อปัดเสร็จแล้วก็ให้นำเทียบแดงไปวางหน้าองค์เทพไท้ส่วยเอี๊ย แล้วเผากระดาษเงินกระดาษทอง บางวัดก็ไม่ให้เผาแล้วเพื่อลดมลพิษทางอากาศนะครับ บางวัดให้ส้มและแจไฉ่ (อาหารเจแห้ง) นำกลับบ้านไปกินเพื่อความเป็นสิริมงคล
ทั้งหมดสำหรับคลิปนี้ ก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับปีชงนะครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน และขอให้ทุกท่านโชคดีมีความสุข ใช้ชีวิตอย่างมีสติทั้งท่านที่ชงเต็ม ชงร่วม และปีฮะ (ไม่ชง) ด้วยนะครับ สุดท้ายนี้ก็ขอฝากให้ทุกท่านช่วยกดไลค์ กดแชร์ กด subscribe ให้กับ ตาณฑวะพยากรณ์ เพื่อเป็นกำลังใจในการผลิตรายการต่อไปเรื่อยๆ นะครับ