วิศิษฏไทฺวตะเวทานตะ

วิศิษฏไทฺวตะเวทานตะ

วิศิษฏไทฺวตะเวทานตะ เป็นปรัชญาที่เกิดภายหลังอไทฺวตะเวทานตะ ผู้ก่อตั้งสำนักปรัชญานี้คือท่าน “รามานุช” ซึ่งมีอายุถึง 120 ปี (ในปี พ.ศ. 1560-1680) ท่านรามานุชได้รจนาคัมภีร์อธิบายพรหมสูตรโดยตีความตามทรรศนะของท่าน ซึ่งไม่ตรงกับอไทฺวตะเวทานตะของท่านศังกราจารย์ จึงเกิดระบบปรัชญาเวทานตะใหม่ขึ้นมาอีกสำนักหน่งชื่อว่า วิศิษฏไทฺวตะเวทานตะ และชักนำประชาชนจำนวนมากให้หันมานับถือลัทธิไวษณะวะ (นับถือพระนารายณ์เป็นพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด) ชาวอินเดียในยุคท่านรามานุชเชื่อว่าท่านรามานุชเป็นอวตารของพระนารายณ์

ท่านรามานุชมีทรรศนะว่า พระเจ้าเป็นสากลจักรวาล” บรรดาสสารวิญญาณชีวาตมันทั้งปวงรวมเป็นร่างกายของพระองค์ ทรงควบคุมสิ่งต่างๆ จากภายใน พระเจ้าเป็นสิ่งเที่ยงแท้ปราศจากการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่เกิดจากพระองค์ไม่เที่ยง ชีวาตมันทั้งหลายได้รับสุขทุกข์เวียนว่ายตายเกิดนั้นไม่มีผลกระทบต่อพระองค์ พระเจ้าสถิตในทุกสิ่งและอยู่เหนือกฎแห่งกรรม

temple, hindu, hindu temple

ความภักดีสูงสุดคือความรู้ที่แท้จริง

ท่านรามานุชมีทรรศนะว่าโลกนี้เป็นของจริง โดยมีพรหมเป็นผู้สร้างจากพระองค์เอง การสร้างโลกเป็นการสร้างจริงๆ มิใช่มายา (อย่างที่ท่านศังกราจารย์กล่าวไว้) และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงจริงๆ มิใช่เพียงมายา ท่านรามานุชเชื่อว่าโลกต้องเกิดขึ้นเพื่อให้ชีวาตมันได้เสวยผลแห่งอดีตกรรมของตนทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล

ทรรศนะของท่านรามานุชไม่มีการหลุดพ้นขณะยังมีชีวิต (ชีวานมุกติ) เพราะชีวาตมันยังติดข้องอยู่กับกายเนื้อซึ่งค้านกับท่านศังกราจารย์ วิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงโมกษะของท่านรามานุชมี 2 วิธีคือ

  1. กรรมโยคะ (การบำเพ็ญตบะและบูชาอย่างสม่ำเสมอโดยไม่หวังผลแม้แต่สวรรค์) และ
  2. ญาณโยคะ (การศึกษาเวทานตะ จนตระหนักรู้ถึงความจริง)

การบรรลุโมกษะนั้นไม่ได้มาด้วยการศึกษาหรือใช้ตรรกะ แต่บรรลุด้วยความกรุณาของพระเจ้า ดังนั้นความภักดีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

สรุปทรรศนะที่แตกต่างกันของ วิศิษฏไทฺวตะเวทานตะ กับ อไทฺวตะเวทานตะ หรือ ท่านรามาชุน กับ ท่านศังกราจารย์ได้ดังนี้

  1. ท่านรามานุชเห็นว่า “มายา” คือ อำนาจที่พระเจ้าใช้สร้างโลก มิใช่ “อวิชชา” ที่ทำให้อาตมันไม่รู้ความจริง ดังนั้น มายากับอวิชชา มิใช่สิ่งเดียวกัน (ซึ่งท่านศังกราจารย์เห็นว่าเป็นสิ่งเดียวกัน)
  2. ท่านศังกราจารย์กล่าวว่าผู้ที่บรรลุโมกษะแล้ว หากยังมีชีวิตก็จะไม่อยู่เฉย เขาจะอุทิศตนเพื่ออย่างมากเพื่อโลก ผิดกับปุถุชน แต่ท่านรามานุชกล่าวว่าผู้บรรลุโมกษะจะมีสภาพอย่างเดียวกับพรหม พระพรหมจะแก้บ่วงต่างๆ ให้
  3. ท่านศังกราจารย์ให้ความสำคัญใน ชญาณกัณฑ์ (ความรู้ทางปรัชญา) มากกว่า กรรมกัณฑ์ (หน้าที่ ระเบียบ การบูชา) แต่ท่านรามานุชให้ทั้งสองตอนมีความสำคัญเท่ากัน
  4. ท่านศังกราจารย์มีทรรศนะว่า ชีวาตมัน (อาตมัน) คือ พรหมัน (ปรมาตมัน) การเข้าสู่ภาวะความเป็นหนึ่งเดียวกันกับพรหมันคือการบรรลุโมกษะ แต่ท่านรามานุชเห็นว่าเมื่อบรรลุโมกษะ ชีวาตมัน (ซึ่งเป็นปรมาณู) มิได้กลืนหายไปกับพรหม เพียงแต่มีสภาพคล้ายพรหม และรู้แจ้งในสถานะอันแท้จริงว่าเป็นส่วนหนึ่งของพรหม (พระเจ้า)

อ้างอิงจาก ตำราปรัชญาอินเดียสมัยโบราณ โดย รศ. นงเยาว์ ชาญณรงค์

"หน้าที่" สำคัญเท่ากับ "ความรู้"

แนวคิด

การได้รับความรู้มาจาก 3 ทางคือ

  1. ประจักษ์ (การรับรู้)
  2. อนุมาน (เหมือนของปรัชญามีมางสา) และ
  3. ศัพท (จากการบอกเล่า หรือศึกษาพระคัมภีร์)

ท่านรามานุชให้ความสำคัญต่อ กรรมกัณฑ์ (หน้าที่ การปฏิบัติบูชา ตอนต้นของพระเวท) เท่าเทียมกับ ชญาณกัณฑ์ (ความรู้ทางปรัชญา ตอนท้ายของพระเวท) ถือว่ามีความสัมพันธ์กันต้องอาศัยซึ่งกันและกัน

หลักการ

ท่านรามานุชเห็นว่า พรหมันคือพระเจ้าที่มีตัวตน มีอาตมันและสสารต่างๆ ประกอบขึ้นเป็นพรหม อาตมันแยกจากความรู้ (อาตมันคือตัวรู้ ความรู้นั้นอาศัยอยู่ในอาตมัน)

อาตมันมิใช่วิญญาณบริสุทธิ์แต่เป็นที่พักพิงของความรู้สึกตัว เมื่อบรรลุโมกษะชีวาตมันจะเข้าถึงสภาวะคล้ายคลึงกับพระเจ้าและรู้แจ้งเป็นส่วนหนึ่งแห่งร่ายกายพระเจ้า (มิได้กลืนหายเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า)

ข้อปฏิบัติ

ข้อปฏิบัติเพื่อไปสู่การหลุดพ้นหรือโมกษะ คือ

  1. มีความรู้ที่แท้จริง (มิใช่แค่จากการบอกเล่า) เป็นสาเหตุ
  2. ความภักดีสูงสุดคือความรู้ที่แท้จริงเป็นทางตรงนำไปสู่การหลุดพ้น (โมกษะในทรรศนะของท่านรามานุชคือชีวาตมันรู้แจ้งสภาพอันแท้จริงว่าเป็นส่วนประกอบของพระเจ้า)
  3. ความรู้แจ้งจะทำลายกรรมให้หมดสิ้นและได้รับพระกรุณาจากพระเจ้าให้บรรลุโมกษะ