Indian philosophy

Timeline

ปรัชญาอินเดียแสดงแนวคิดส่วนหนึ่งของโลกตะวันออก หลักในการดำรงชีวิตส่วนใหญ่ คือ ต้องการบรรลุสัจธรรมแห่งชีวิต และหลุดพ้นจากวงเวียนแห่งความทุกข์อันไม่จบสิ้นคือการเวียนว่ายตายเกิด แนวคิดนี้สืบเนื่องกันมาช้านาน และแตกออกเป็นสาขาต่างๆ ตามระยะเวลาและพัฒนาการที่ผ่านไป ปรัชญาอินเดียเป็นทั้งศาสนาและศีลธรรมที่ลึกซึ้ง มีแนวคิดที่เป็นระบบและมีเหตุผลอธิบายสนับสนุน

ปราชญ์ชาวอินเดียกล่าวว่า ปรัชญาและแนวคิดของอินเดียถือกำเนิดจากพระเวท เป็นเสมือนดั่งเมล็ดพืชของพฤกษาปรัชญาต้นใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขาไปทั่วทุกทิศ ประหนึ่งเมล็ดไทรที่เล็กนิดเดียวให้กำเนิดต้นไทรใหญ่มหึมาฉันนั้น [1] 

ปรัชญาอินเดียมีอิทธิพลกับแนวคิดและหลักการดำเนินชีวิตของประเทศไทย ศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทยก็เป็นหนึ่งในสาขาของปรัชญาอินเดีย มีหลักการและขอบข่ายเป็นเช่นเดียวกัน ประกอบด้วย ญาณวิทยา คือลักษณะ หน้าที่ ชนิด แหล่งกำเนิดความรู้ และตรรกเหตุผล อภิปรัชญา คือการพิสูจน์ความเป็นจริง และ จริยศาสตร์ คือข้อปฏิบัติเพื่อให้บรรลุความรู้แจ้ง (การหลุดพ้น ตรัสรู้)

มีเป้าหมายเดียวกัน

ปราชญ์อินเดียหลายสาขา ต่างมีความคิดตรงกันว่า โลกนี้เต็มไปด้วยทุกข์ (*) สัตว์โลกทั้งผองจึงต้องดิ้นรน เพื่อหาทางให้พ้นทุกข์และอยู่สุขสบายเท่าที่จะจะสามารถหาได้ในโลกนี้ ผู้มีปัญญาน้อยก็อยู่อย่างสบายน้อยเดือดร้อนมาก ผู้มีปัญญามากจึงสามารถเป็นอยู่อย่างสบายมากและลำเค็ญน้อยลง [2] 

ปรัชญาอินเดียแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ปรัชญาฮินดู อาสติกะ นับถือพระเวท และ ปรัชญาที่ไม่ใช่ฮินดู นาสติกะ คัดค้านพระเวท แต่ละกลุ่มมีสำนักต่างๆ และมี Timeline ตามแผนภาพที่แสดง

ยกเว้นปรัชญาแบบวัตถุนิยม (จารวาก) เป็นที่น่าสนใจว่า ปรัชญาอินเดียล้วนมีจุดมุ่งหมายสูงสุดเดียวกัน คือ การหลุดพ้น ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น โมกษะ นิพพาน สภาวะสมบูรณ์ สัจธรรมสูงสุด จิตวิญญาณหลุดพ้นจากอวิชชา การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด การกลับคืนสู่พรหมัน เป็นต้น

(*) ความทุกข์ 3 ประการ อาธยาตมิกทุกข์ เกิดสาเหตุในร่างกายเอง เช่น การเจ็บไข้ได้ป่วย อธิเภาติกทุกข์ ความทุกข์อันเกิดจากสาเหตุภายนอก เช่น การถูกทำร้ายร่างกายหรือเจ็บทรมานใจ อธิไทวิกทุกข์ ความทุกข์จากอำนาจเหนือธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกหนี เช่น กฎของกรรม บางสำนักเรียกว่า เทวบันดาลหรือพรหมทัณฑ์

อ้างอิงจาก: ตำราปรัชญาอินเดียสมัยโบราณ โดย รศ.นงเยาว์ ชาญณรงค์ ;  [1] จาก ปรัชญาพราหมณ์สมัยพุทธกาล โดย สมัคร บุราวาศ ; [2] จาก ปรัชญาอินเดีย โดย อดิศักดิ์ ทองบุญ 

Definition

นิยามและหลักการ