คเชนทราโมกษะคีตา คำอธิษฐานต่อศรีวิษณุ คีตาศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยนำพาสาวกออกจากสถานการณ์ คำอธิษฐานของคเชนทราในครั้งนั้นได้กลายเป็นบทเพลงสรรเสริญองค์ศรีวิษณุ – นารายณ์ ที่โด่งดังในปัจจุบัน เรียกว่า คเชนทราสตูติ หรือ คเชนทราโมกษะคีตา หรือ คเชนทราโมกษะมันตรา“คเชนทราโมกษะคีตา” เป็นมนต์ที่ทรงพลังที่ส่งถึงองค์ศรีวิษณุ เป็นที่เชื่อกันว่าการสวดมนต์อันทรงพลังนี้จะให้พลังแก่ผู้ที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากในชีวิตและช่วยให้หลุดพ้นจากสถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา มีเพียงการก้าวข้ามวัฏสงสารเท่านั้น ยอมจำนนต่อพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์จึงจะสามารถหลุดพ้นได้ในที่สุด เรื่องราวของคเชนทราเป็นแก่นสำคัญในลัทธิไวษณพ (ไวศณพนิกาย คือนิกายหนึ่งในศาสนาฮินดู ที่นับถือองค์ศรีวิษณุเป็นพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด) และมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ดังนี้ : คเชนทรา เป็นตัวแทนของมนุษย์ จระเข้เป็นตัวแทนของบาป และน้ำหรือโคลนของทะเลสาบคือสัมสาระ (วัฏสงสารแห่งการเกิดและการตาย) ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของคเชนทราโมกษะคือ “ความต้องการทางวัตถุ ความเขลา และบาป ก่อให้เกิดสายโซ่แห่งกรรมที่ไม่รู้จบในโลกนี้ และคล้ายกับจระเข้ที่กำลังกินช้างที่ทำอะไรไม่ถูกซึ่งติดอยู่ในทะเลสาบโคลน, มนุษย์จึงติดอยู่ในวัฏจักรแห่งความตายและการเกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะถึงวันที่พวกเขาสามารถก้าวข้ามทุกสิ่งนี้ และยอมจำนนต่อพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด องค์ศรีวิษณุ-นารายณ์ มนุษย์จึงจะสามารถหลุดพ้นได้ในที่สุด” คเชนทรา โมกษะ คีตา“คเชนทราโมกษะ คีตา” (Gajendra Moksha Gita) เป็นตำนานในภควัทปุราณะ (Bhāgavata Purāṇa) ซึ่งเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญ ดังปรากฏภาพหินสลักบนผนังทิศตะวันตกของปราสาททศวาตาร เมืองทิโอการ์ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย แสดงภาพเล่าเรื่องราวของคเชนทราโมกษะ เป็นภาพขององค์ศรีวิษณุ (หรือมักเรียกกันว่าพระนารายณ์) ทรงครุฑ ลงมาปกป้องช้างที่กำลังชูดอกบัวเพื่อบูชาแด่พระนารายณ์ เพื่อขอความช่วยเหลือให้รอดพ้นจากจระเข้ร้าย แต่ในงานศิลปะนี้ได้ใช้รูปนาคพันที่ขาช้าง เพื่อแทนความหมายของความชั่วร้าย (ศิลปะทางศาสนาฮินดูมักจะใช้สัญลักษณ์รูปจระเข้หรือนาคแทนความไม่ถูกต้องหรือความชั่วร้าย และ ใช้ครุฑแทนความหมายของความดี) 1. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าฯ ขอนอบน้อมบูชาพระองค์ ผู้เปล่งรัศมีส่องสว่างเจิดจรัส ผู้เป็นศูนย์รวมแห่งจิต ผู้รู้แจ้งถึงตัวตนอย่างแท้จริง ผู้เป็นเมล็ดพันธุ์ปฐมอันให้กำเนิดสรรพสิ่ง ข้าฯ บำเพ็ญถึงพระองค์ผู้สถิตอยู่เบื้องบน 2. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า สรรพสิ่งทั้งปวงอยู่ภายในพระองค์ เกิดจากพระองค์และโดยพระองค์ ผู้สร้างและทำให้ปรากฏ ผู้อยู่เหนือสิ่งอันปรากฏและไม่ปรากฏ ข้าฯ ขอสรรเสริญพระองค์ พระผู้เป็นเจ้าผู้รู้แจ้งถึงตัวตน 3. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เอกองค์ผู้ทรงสร้างมายาแห่งการดำรงอยู่ด้วยวัฏจักรแห่งการเกิดและการตาย ผู้อยู่ภายในความรู้สึกของตัวตน เอกองค์ผู้มีญาณรู้ซึ่งอยู่เหนือความเป็นคู่ ผู้เป็นพยานแห่งสรรพสิ่ง ผู้เป็นต้นกำเนิดสูงสุดแห่งตัวตน ผู้อยู่เหนือสรรพสิ่ง ขอพระองค์ทรงปกป้องข้าฯ ! 4. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า สรรพสิ่ง, โลก, ผู้ปกป้องโลก, พลังอันก่อให้เกิดโลก ทั้งหมดนี้ถูกสร้างขึ้น และจะถึงจุดจบในกาลอันควร ซึ่งความมืดอันเวิ้งว้างว่างเปล่าจะปรากฏ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ส่องสว่างเหนือความว่างเปล่านั้น ขอพระองค์ทรงปกป้องข้าฯ ! 5. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า แม้ปราชญ์และเทวดาทั้งหลายก็มิอาจล่วงรู้ถึงที่พำนักของพระองค์ แล้วสัตว์เดรัจฉานเช่นข้าฯ จะบรรลุถึงสภาวะนั้นได้เช่นไร ! ธรรมชาติอันแท้จริงของพระองค์นั้นยากต่อการตระหนักรู้ ดั่งเช่นการหยั่งรู้ถึงธรรมชาติของนักแสดงที่ถูกเครื่องแต่งกายและบทบาทปิดบังไว้ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้อยู่เหนือการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง ขอพระองค์ทรงปกป้องข้าฯ ! 6. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงเป็นที่พำนักแห่งสิริมงคล ผู้เป็นที่ใฝ่หาของปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งปราศจากพันธะ ผู้เป็นที่ใฝ่หาของผู้พเนจรตามป่าเขา ผู้เป็นที่ใฝ่หาของผู้ที่ปราศจากความเพลินเพลินใจในทางโลก ข้าฯ ขอหลีกลี้จากภยันตราย โดยพักพิงอาศัยอยู่ในพระคุณอันมีต่อสรรพสิ่งของพระองค์ ! 7. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เอกองค์ผู้ซึ่งไร้ทั้งการกำเนิดและการกระทำ ผู้ซึ่งไร้ทั้งรูปและนาม ผู้ซึ่งไร้ทั้งความดีและความชั่ว เอกองค์ผู้ทรงเกี่ยวข้องในกระบวนการสร้างและการทำให้สูญสลายโดยผ่านมายาขององค์เอง 8. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงสถิตอยู่เบื้องบน ผู้สรรค์สร้างศักยภาพอันไม่สิ้นสุด ผู้ไร้รูปและเป็นทุกรูป การกระทำของพระองค์ช่างอัศจรรย์ ! ข้าฯ ขอนอบน้อมบูชาพระองค์ 9. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เอกองค์ผู้เปล่งรัศมีด้วยองค์เอง ผู้เป็นพยานของสรรพสิ่งและเป็นตัวตนสูงสุด (ปรมาตมัน) ผู้อยู่เหนือสภาวะของจิตใจและสติสัมปชัญญะ ข้าฯ ขอนอบน้อมบูชาพระองค์ 10. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงเป็นเจ้าแห่งการหลุดพ้น ผู้รู้แจ้งนิรามิสสุขโดยปรินิพพาน ผู้บรรลุคุณสมบัติแห่งสัตวะ ซึ่งบังเกิดขึ้นภายหลังการชำระสะสางพันธะแห่งกรรม ข้าฯ ขอนอบน้อมบูชาพระองค์ 11. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทั้งสงบและดุร้าย ผู้ทั้งเฉื่อยชาและเปี่ยมด้วยคุณภาพ ผู้ไร้คุณสมบัติ ผู้เยือกเย็น ผู้ซึ่งเป็นพุทธิที่เข้มข้นรวบรัด ข้าฯ ขอนอบน้อมบูชาพระองค์ 12. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงสถิตอยู่ภายใน ผู้ปกครองและเป็นพยานเหนือสรรพสิ่ง ผู้มีญาณอันสูงสุด ผู้ซึ่งเป็นรากฐานแห่งความรู้สึกถึงตัวตน ข้าฯ ขอนอบน้อมบูชาพระองค์ 13. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงสังเกตประสาทสัมผัสทั้งหลาย ผู้เป็นเหตุแห่งการรู้แจ้งทั้งปวง เอกองค์ผู้ตรัสรู้นิรันดร์ แต่พระองค์ยังคงปรากฏเช่นเงามืดต่อผู้มีอวิชชา ข้าฯ ขอนอบน้อมบูชาพระองค์ 14. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงเป็นต้นเหตุแห่งสรรพสิ่ง ทรงเป็นผู้ไร้ซึ่งสาเหตุ ผู้กระทำสิ่งอันน่าครั่นคร้าม ! ข้าฯ ขอนอบน้อมต่อมหาสมุทรแห่งความรู้ทั้งปวง พระองค์ทรงเป็นที่พึ่งสูงสุด ผู้ประทานความหลุดพ้น ข้าฯ ขอนอบน้อมต่อพระองค์ครั้งแล้วครั้งเล่า 15. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า หากคุณะเปรียบเสมือนฟืน ข้าฯ ขอนอบน้อมต่อพระองค์ผู้เป็นความร้อนแห่งจิตซึ่งสถิตอยู่ภายใน ข้าฯ นอบน้อมต่อพระผู้เป็นเจ้า ผู้เป็นมนัสอันเจิดจรัสส่องสว่างอยู่ภายใน ข้าฯ นอบน้อมต่อพระผู้เป็นเจ้า ผู้เปล่งรัศมีด้วยองค์เอง ผู้ไร้ซึ่งกรรมลิขิต ผู้อยู่เหนือความรู้แห่งจารีตประเพณี 16. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้มีพระคุณสูงยิ่ง ผู้ไร้ข้อจำกัด ผู้เป็นอิสระ ผู้เป็นเหตุแห่งการหลุดพ้นสำหรับสิ่งมีชีวิตที่มีข้อจำกัดเช่นข้าฯ ! ข้าฯ ขอนอบน้อมบูชาพระองค์[ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า] ผู้แผ่ซ่านไปทั่ว ผู้ปรากฏในรูปแบบอันหลากหลาย แต่สถิตทั่วทุกหนแห่งด้วยความรู้สึกขององค์เอง ข้าฯ ขอนอบน้อมบูชาพระองค์ 17. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ปราศจากคุณสมบัติและพันธะ ผู้บรรลุถึงได้ยากสำหรับผู้ยึดติดกับทางโลก ข้าฯ นอบน้อมต่อพระผู้เป็นเจ้าของสรรพสิ่ง ผู้ซึ่งบำเพ็ญสมาธิตลอดกาลอยู่เหนือผู้หลุดพ้นทั้งหลาย ผู้ซึ่งเป็นศูนย์กลางของความรู้อย่างแท้จริง ข้าฯ ขอนอบน้อมบูชาพระองค์ 18. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เอกองค์ซึ่งเหล่าสาวกบูชา เพื่อบรรลุความปรารถนาต่อ ธรรม, อรรถ, กาม หรือ โมกษะ หากจะขอพรอื่นใดจากพระองค์ ข้าฯ ขอให้พระองค์ทรงปกป้องข้าฯ จากอันตรายเบื้องหน้านี้และภยันตรายนอกเหนือจากนี้ 19. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เอกองค์ซึ่งเหล่าสาวกบูชา เพื่อมุ่งหมายจะได้บรรลุถึงพระผู้สร้าง ผู้ไร้ความปรารถนาทางวัตถุ ผู้มีรัศมีมงคลอันอัศจรรย์ เหล่าสาวกร้องเพลงสรรเสริญอย่างไม่หยุดหย่อน และดื่มด่ำในความปีตินั้น 20. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ไม่เสื่อมสลาย ผู้แผ่ซ่านไปทั่ว ผู้ไร้คำนิยาม ผู้เป็นสัมผัสของ “ข้าฯ” อย่างแท้จริง ผู้ซึ่งสามารถรับรู้ได้ผ่านการปฏิบัติโยคะ ผู้อยู่เหนือประสาทสัมผัส ผู้ละเอียดอ่อนบอบบาง ผู้ปรากฏในระยะที่บรรลุถึงได้ ผู้เป็นอนันต์ ผู้เป็นเบื้องต้น ผู้สมบูรณ์พร้อม ข้าฯ ขอนอบน้อมบูชาพระองค์ 21. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เอกองค์ผู้มีหลากหลายนามและรูปอันมีเอกลักษณ์ เป็นที่โปรดปรานของพรหม, เทวะ และสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ 22. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ดั่งเช่นแสงสุริยะ คือแสงที่ถูกแบ่งออกจากแหล่งกำเนิดสูงสุดหนึ่งเดียว ฉันใด, ความรู้สึก พุทธิ จิตใจ และร่างกายทั้งปวงของ “ข้าฯ”, ย่อมหลั่งไหลออกมาจากแหล่งกำเนิดสูงสุดหนึ่งเดียว ฉันนั้น 23. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เอกองค์ผู้มิใช่ทั้งเทวะหรือปีศาจ ผู้มิใช่ทั้งเป็นอมตะหรือไม่เป็นอมตะ ผู้มิใช่ทั้งมนุษย์หรือสัตว์ ผู้มิใช่ทั้งชายหรือหญิง ผู้มิใช่ทั้งคุณสมบัติหรือการกระทำ ผู้มิใช่ทั้งภาวะหรืออภาวะ ผู้ปราศจากร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ ขอเอกองค์ทรงเป็นผู้ชนะ ! 24. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าฯ ไม่ปรารถนาจะอาศัยในรูปช้าง ไม่ว่าภายในหรือภายนอก ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่ถูกผูกมัดด้วยกฎหรือกาลเวลา ข้าฯ ผ่านการตระหนักรู้ของประสาทสัมผัสแห่งตัวตน ข้าฯ ปรารถนาเพียงการหลุดพ้น 25. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้เป็นที่พำนักนิรันดร์ ผู้แผ่ซ่านไปทั่ว ผู้ไร้กำเนิด ผู้เป็นตัวตนของสรรพสิ่ง ผู้เป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่ง ผู้เป็นตัวตนที่แท้จริงของข้าฯ ข้าฯ ขอนอบน้อมบูชาพระองค์ 26. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงเป็นเจ้าแห่งโยคะ โยคีทั้งหลายผู้ปฏิบัติโยคะและสถาปนาโยคะในจิตใจ ล้วนเป็นพยาน ข้าฯ ขอนอบน้อมบูชาพระองค์ 27. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้มีความเร็วอันไร้เทียมทาน ผู้เป็นศูนย์รวมของตรีศักติ ผู้เป็นศูนย์รวมของคุณสมบัติ ผู้เป็นศูนย์รวมของพุทธิ ข้าฯ ขอนอบน้อมต่อพระองค์ ผู้ปกครองเหนือเหล่าสาวกผู้หลีกลี้หนีภัย ผู้มีศักยภาพอันไม่สิ้นสุด ผู้คนที่ติดอยู่ในห้วงความรู้สึกไม่อาจบรรลุถึงพระองค์ได้ ข้าฯ ขอนอบน้อมบูชาพระองค์ครั้งแล้วครั้งเล่า 28. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าฯ ไม่อาจเข้าถึงความรู้สึกที่แท้จริงของตัวตน เพราะข้าฯ หลงในอัตลักษณ์ที่มีข้อจำกัดของตนเอง บัดนี้ ข้าฯ เข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า ผู้รุ่งโรจน์และไม่เคยแพ้พ่าย ซึ่งสถิตอยู่ภายในตัวข้าฯ เอง คเชนทราโมกษะมันตรา ผลของการฟังหรือสวดมนต์บทนี้ “ท่านผู้เป็นที่รัก แด่บรรดาผู้ที่ลุกขึ้นจากที่นอนในยามราตรี และถวายเครื่องบูชาแด่ข้าฯ ข้าฯ สนองคำอธิษฐานของท่านทั้งหลาย ด้วยการให้ที่พักพิงนิรันดร์ในโลกฝ่ายวิญญาณในตอนท้ายแห่งชีวิตของพวกท่าน” เรื่องเล่าประวัติคเชนทรา กษัตริย์อินทรายุมนา ผู้งดงามดั่งพระอินทร์ ตำนานแห่งคเชนทรา คเชนทราผู้ทรงพลังอำนาจและภาคภูมิใจในตนเอง คเชนทราโมกษะคีตา มนตราเพื่อการหลุดพ้นจากสถานการณ์อันยากลำบาก ไวศนพนิกาย วิศิษฏไทฺวตะเวทานตะ อภิธานศัพท์ คลิกที่คำศัพท์เพื่อค้นหาความหมาบ ตัวตน - อาตมัน ตัวตน หมายถึง อาตมัน มีคำนิยามมากมายถึงอาตมัน กล่าวคืออาตมันคือหนึ่งและสากล แตกต่างจากร่างกาย, ประสาทสัมผัส, ความรู้สึก, ใจ, สติปัญญา, ความรู้สึกภายใน, และอื่นๆ เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ต่อกิจกรรมและไม่ได้รับผลกระทบจากสิ่งใดอาตมันมีธรรมชาติเป็นความรู้แจ้งของสติ, ส่องสว่างด้วยตนเอง, มีธรรมชาติเป็นความรู้, ไม่ต้องใช้ความรู้อื่นเพื่อรู้ถึงอาตมัน อาตมันปราศจาก รักหรือชัง, กลัวหรือเสียใจ, คุณภาพหรือการกระทำ, รูปแบบ, การเปลี่ยนแปลงหรือมลทิน อาตมันไม่มีที่ติ, แบ่งแยกไม่ได้, แผ่ซ่านไปทั่ว และเป็นอนันต์ อาตมันและพรหมันคือหนึ่งเดียวกัน จิต - มนัส จิต หรือ จิตใจ มักใช้เป็นคำทั่วไป ที่หมายรวมถึง พุทธิ หรือ จิตตะ พุทธิ - สติปัญญา พุทธิเป็นส่วนหนึ่งของ อันตกรณะ หรือ ส่วนประกอบภายใน (โครงสร้าง) ประกอบด้วย มนัส, พุทธิ, จิตตะ และ อหังการ มีหน้าที่ต่างกันมนัส : ใจ มีลักษณะ สงสัย (วิกัลป์ปะ) และ มุ่งมั่น (สังกัลป์ปะ) มักจะใช้คำว่า มนัส หรือ ใจ เป็นคำเรียกที่รวมเอาพุทธิหรือจิตตะไว้ด้วยพุทธิ : สติปัญญา ยกระดับได้ด้วยพลังของการบำเพ็ญเพียร (มุ่งมั่นและปฏิบัติ)จิตตะ : จิต เป็นคลังของความประทับใจในอดีตอหังการ : กำหนดลักษณะโดยความรู้สึกว่า “ตัวฉัน” โยคะ โยคะ เป็นคำทั่วไปสำหรับแนวทางหรือระเบียบวินัยที่นำไปสู่การรวมกันกับพระเจ้า เช่น การควบคุมลมหายใจ, (จักระ) บนเส้นทางของกุณฑาลินี, มนตรา, ความเคร่งอื่น ๆ, การควบคุมจิตใจ, ภักติ (ความจงรักภักดี), กรรมโยคะและญาณโยคะ (ความรู้) ตรีศักติ พระชายาทั้งสามของพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด 3 พระองค์ (ศิวะ นารายณ์ และ พรหม) คือ ปาราวตี ลักษมี และ สุรัสวตี ตามลำดับ เป็นพลังของพระผู้เป็นเจ้าและเป็นนิรันดร์ พรหม ผู้สร้าง พระเป็นเจ้าผู้สร้างสิ่งปรากฏทั้งหมด เรียกขานชื่อว่า “จตุรมุข” เพราะมี 4 หน้า ประทับบนดอกบัวที่เกิดขึ้นจากสะดือของวิษณุ พรหมัน มาจากภาษาสันสฤต พรห = การเติบโต และ มัน = การหายไป (จากสถานที่หรือเวลา) ดังนั้น พรหมันจึงหมายถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด พรหมันคือสิ่งเดียวที่เป็นจริง อยู่เหนือคำจำกัดความ การยอมรับที่สัมผัสได้ และ จิตใจของมนุษย์ พรหมันถูกมองว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไร้ข้อจำกัด, เคยมีอยู่, ไร้ข้อจำกัดในสถานที่และเวลา, ไม่เปลี่ยนแปลง, ไม่มีที่ติ, ไร้คุณสมบัติ, ไร้คุณลักษณะ, ไร้ชื่อหรือรูปแบบ, ไม่เกิดและไม่เติบโต, ไม่มีวุฒิภาวะ, ไม่เสื่อมสลาย, ไม่มีอะไรที่คล้ายคลึง และไม่มีอะไรแตกต่างจากพรหมัน พรหมันถูกกล่าวว่าเป็นความรู้บริสุทธิ์, เป็นเหตุแห่งประสิทธิภาพและแก่นสารของจักรวาล, เป็นจิตวิญญาณที่แผ่ซ่านไปทั่วจักรวาล, เป็นแก่นของการสร้างสิ่งมีชีวิตและสิ่งที่สิ่งมีชีวิตซึมซับอยู่ ปรากฏการณ์ทั้งหมดของโลก, คุณภาพ, การกระทำ, การเผยให้เห็น กล่าวกันว่าเป็นการลวงตาที่ซ้อนทับบนพรหมัน ในอุปนิษัทนิยมพรหมันว่าเป็นอาตมันสากล, เป็นความจริงที่แท้ ประสาทสัมผัส กล่าวกันว่าเทวะมีส่วนร่วมอยู่กับประสาทสัมผัสภายในต่างๆ, อวัยวะรับสัมผัส, สัมผัสละเอียดอ่อน (ทานมาตระ), อวัยวะที่ใช้กระทำ และอื่นๆมนัส (จิตใจ) : จันทราพุทธิ (สติปัญญา) : พรหมอหังการ (ego) : รุทระจิต (ความคิด, สติปัญญา) : วสุเทวะประสาทสัมผัส และเทวะ มีดังนี้หู (เสียง) : อากาศ (ที่ว่าง, ทิศทาง)ผิว (สัมผัส) : วายุ (ลม)ตา (รูป) : สุริยะ (พระอาทิตย์)ลิ้น (รส) : วรุณ (น้ำ)จมูก (กลิ่น) : อัศวินกุมาร (เทวะคู่แห่งการปรุงยา)อวัยวะที่ใช้กระทำ และเทวะ มีดังนี้วาจา (พูด) : อัคนี (ไฟ)ปานิ (มือ) : อินทรา (เทวราชา)บาทา (เท้า) : วิษณุ (ผู้ธำรงรักษา)พายุ (ขับถ่าย) : มฤตยู (เทพแห่งความตาย)อุบัติ (การเกิด) : ประชาบดี (ต้นกำเนิดบรรบุรุษ) คุณะ คุณะเป็นองค์ประกอบที่สมดุลของประกฤติสัตวะ แปลว่า ความแท้จริงหรือความมีอยู่ สัตวะเป็นมูลฐานแห่งความดี ความสุข ความเบา ความแจ่มใส ความมีประกายสดใส ความเจิดจ้าแห่งแสงสว่าง การเลื่อนลอยขึ้นเบื้องบน ความพอใจ มีสีขาวรชัส แปลว่า ความเศร้าหมอง รชัสเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดจลนภาพหรือความเคลื่อนไหว ความกระปี้กระเปร่า ความเจ็บปวด ความกระวนกระวาย ความโหดร้ายรุนแรงของอารมณ์ รชัสทำให้เกิดการกระตุ้นเร่งเร้าอันเป็นผลให้เกิดความเคลื่อนไหว มีสีแดงตมัส ความมืด ตมัสเป็นมูลฐานแห่งความเฉยๆ ปราศจากความสนใจ ความโง่เขลา ความสับสน ความเซื่องซึมเหงาหงอย ความหดหู่ ตมัสทำให้เกิดความหยุดนิ่ง (ในแง่ของวัตถุ) มีสีดำหรือคล้ำเมื่อคุณะทั้ง 3 สมดุลคืออยู่ในภาวะของประกฤติ เมื่อเกิดเสียความสมดุล, วิวัฒนาการก็จะเริ่มต้นขึ้นและดำเนินเรื่อยไปตามครรลองของมัน นิรามิสสุข นิรามิสสุข คือสุขที่เกิดโดยปราศจากอามิสหรือสิ่งภายนอก เป็นความสุขที่ไม่ต้องวิ่งไปหาจากภายนอก แต่ความสุขเกิดจากภายใน ด้วยเจริญสติภาวนา ด้วยการฝึกจิตให้อยู่กับสมาธิ ไม่ให้จิตดิ้นรนออกไปตามสิ่งที่เราไปสัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย และสัมผ้ส ความสุขเกิดความสงบ ความสะอาด และความสว่างของดวงจิตภายในของเรา ซึ่งเป็นความสุขที่ละเอียด ยั่งยืน และมั่นคงไม่ต้องหาวิ่งหา ไม่ต้องใช้เงิน ซึ่งเป็นความสุขที่หาซื้อไม่ได้ ใครอยากได้ต้องทำเอง