บทที่ 18

ศานติ

อัษฏาวกระได้แสดงหนึ่งร้อยโศลกแห่งความไม่เป็นคู่อันบริสุทธิ์

ตอนที่ 2 – โศลกที่ 21-40

อัษฏาวกระ กล่าว :

18.21

บุคคลที่หลุดพ้นนั้นเป็นอิสระเสรี ไร้ความปรารถนา เขาเคลื่อนไหวดุจดั่งใบไม้แห้งที่ถูกเป่าด้วยแรงลม

(บุคคลที่หลุดพ้นจากพันธะทั้งปวง เขาเป็นอิสระเสรีจากกิเลสตัณหา เขาถูกชักนำไปด้วยปรารภกรรมในอดีตของตัวเขา โดยปราศจากการเลือกหรือร่องรอยของอัตตา)

18.22

ไม่มีความยินดีหรือเสียใจสำหรับผู้ที่ก้าวข้ามภาวะของโลก เขามีเพียงจิตอันสงบ, เขามีชีวิตที่เหมือนไม่มีร่างกาย

(ทั้งความยินดีและเสียใจเป็นการปรุงแต่งของจิตที่ไร้การควบคุม และเป็นบ่อเกิดของความปรารถนาในสิ่งที่ผูกพัน ซึ่งเป็นรากเหง้าของภาวะของโลก ดังนั้นผู้ที่ก้าวข้ามภาวะของโลกคือผู้ที่ก้าวข้ามทั้งความยินดีและเสียใจ เขามีจิตที่สงบเพราะไม่มีการปรุงแต่งใดๆ)

18.23

ผู้บรรลุธรรมซึ่งปิติในอาตมันและมีจิตใจสงบบริสุทธิ์ เขาไร้ความปรารถนาที่จะละทิ้งสิ่งใดก็ตาม และเขาไม่รู้สึกสูญเสียไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะใด

(ผู้ที่ต้องการละทิ้ง โลก การเห็น และความรู้สึก  เพราะเขายังเห็นว่าพวกมันเป็นสิ่งจริง และเป็นสิ่งอื่นนอกเหนือไปจากอาตมัน  ; แต่ผู้ปิติในอาตมันจะมีเพียงอาตมันเท่านั้น การละทิ้งจึงหมดความหมาย)

(แม้ว่าผู้บรรลุธรรมไม่รู้สึกต้องการที่จะปล่อยวางสิ่งใด นั่นมิได้หมายความว่าเขายึดถือวัตถุทางโลก เขาทั้งไม่ยึดถือและไม่ปล่อยวาง เขามีชีวิตเหมือนใบไม้แห้งที่ปลิวไปตามสายลม บางครั้งเหมือนเจ้าชายที่อุดมสมบูรณ์ บางคราวเหมือนวณิพกผู้เปล่าเปลือย และแม้จะเป็นเพียงวณิพกเขาก็มิได้รู้สึกว่าสูญเสียอะไร)

18.24

โดยธรรมชาติของผู้บรรลุธรรมซึ่งมีจิตว่างเปล่า เขากระทำการตามที่เห็นสมควร เขามิได้รับผลกระทบใดๆ จากการสรรเสริญหรือดูหมิ่นเหมือนกับคนทั่วไป

(ผู้รู้แจ้งมีจิตว่างเพราะไร้การปรุงแต่งเกิดขึ้นในจิตของเขา ; เขาไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเขาไม่มีอัตตา และไม่มีภาวะที่เป็นพันธะของการมีชีวิต , การเปรียบเทียบเรื่องสรรเสริญหรือดูหมิ่นจึงจบสิ้นลง)

18.25

ผู้ที่กระทำการใดๆ ด้วยความคิดที่ว่า “สิ่งนี้ถูกกระทำโดยร่างกาย และมิใช่โดยข้าพเจ้าซึ่งเป็นอาตมันบริสุทธิ์” บุคคลเช่นนั้นแม้จะกระทำ, ก็มิได้เป็นการกระทำ (กรรม)

(การกระทำไม่เป็น “กรรม” เมื่อบุคคลที่กระทำนั้นไม่ข้องเกี่ยวกับอัตตา ผู้บรรลุธรรมเป็นอิสระจากอัตตาอย่างสมบูรณ์ เขาจึงมิได้กระทำกรรมอย่างแท้จริง แม้จะดูเหมือนว่าเขากำลังกระทำอยู่)

18.26

ผู้หลุดพ้นที่ยังมีชีวิต (Jivanmukta) กระทำสิ่งใดๆ เหมือนกับคนโง่ๆ แต่ก็กล่าวมิได้ว่าเขากระทำ (กรรม) เขาก็ดูมีความสุขแม้ยังดำเนินชีวิตอยู่ในโลก

(คนฉลาดทั่วไปที่มีสติ จะรู้ในแรงจูงใจและเป้าหมายของการกระทำ จึงสามารถตอบได้อย่างเจาะจงเมื่อมีผู้ถาม ไม่เหมือนกับผู้หลุดพ้นที่ยังมีชีวิต [Jivanmukta] เขากระทำโดยไร้จุดประสงค์และแรงจูงใจ เขาจึงเหมือนคนโง่ๆ ที่ไม่อาจตอบคำถามเหล่านั้น แต่เขามิใช่คนโง่,เขาอยู่ในระดับสูงสุดที่ดูเหมือนคนโง่เขลาอยู่บ่อยๆ)

(เขามิได้ยึดติดผูกพันกับโลก ดังนั้น, ความสุขและการบรรลุธรรมของเขามิอาจถูกทำลายแม้มีชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลก เพราะไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใดที่จะยึดจับเขาไว้ได้ การยึดติดนั้นเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เป็นพันธะอันก่อให้เกิดทุกข์)

18.27

ผู้บรรลุธรรมหมดความสนใจต่อเหตุผลอันหลากหลาย, เขาบรรลุความสงบ เขาไม่คิด ไม่รู้ ไม่ได้ยิน และไม่เห็น

(ผู้บรรลุธรรมได้ค้นหาและพบความจริงในที่สุดว่า ความจริงอยู่เหนือเหตุผลทั้งปวง เขาละเว้นจากการกระทำทั้งภายนอกและภายใน ดังนั้น, เขาจึงมีบรมสุขเป็นล้นพ้นในอาตมัน)

18.28

ผู้บรรลุธรรมอยู่เหนือ สมาธิ และ ความสับสน, ผู้สงบไม่มีความปรารถนาต่อการหลุดพ้น และไม่มีความสับสน, เขามั่นใจว่าจักรวาลเป็นเพียงจินตนาการที่สร้างขึ้นเอง แม้เขาจะเห็นจักรวาล, เขาก็ยังดำรงอยู่เช่นพรหมันของตัวมันเอง (Brahman Itself)

(ผู้หลุดพ้นที่มีชีวิต [Jivanmukta] ไม่มีความปรารถนาต่อการหลุดพ้น เพราะเขาตื่นรู้ในอาตมัน)

(แม้ว่าเขาจะยังคงเห็นจักรวาล และการแตกกิ่งก้านสาขาของมันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการสงเคราะห์ของเขาในอดีต, เขาพบว่าจักรวาลนั้นเป็นเพียงเงาและไร้แก่นสาร)

(การดำรงอยู่เช่นพรหมันเป็นภาวะสมบูรณ์ คือ เขาไม่ถูกแตะต้องโดยการกระทำของจิตและความรู้สึกของเขาเอง และเขาไม่ได้รับผลกระทบโดยจักรวาล)

18.29

ผู้มีอัตตากระทำ (กรรม) แม้ว่าเขายังไม่ได้กระทำ ผู้บรรลุธรรมซึ่งปราศจากอัตตา, ไม่ทำอะไรที่ผิดเลย (อย่างแท้จริง)

(ผู้มีอัตตากระทำ [กรรม] ทางจิต – แม้ว่าร่างกายยังไม่ได้กระทำ [กรรม] ; การกระทำ [กรรม] ทั้งหลายมีอัตตาเป็นแรงผลักดัน มิใช่แรงผลักดันจากจิตใจ, ตราบเท่าที่ยังมีอัตตาในตัวเรา เราก็ยังคงกระทำ [กรรม] มีเพียงการทำลายความรู้สึกว่ามีตัวตน [อัตตา] เท่านั้น, การไม่กระทำ [กรรม]อย่างแท้จริงจึงจะเกิดขึ้น)

(โศลกนี้กล่าวว่าผู้รู้แจ้งไม่ทำอะไรผิดเลยอย่างแท้จริง เพราะผู้ที่เป็นอิสระจากอัตตา บาป และ มลทิน, การกระทำของเขาจะเป็นประโยชน์ต่อโลกเสมอ)

18.30

จิตที่หลุดพ้น ไม่ทุกข์และไม่สุข มันสงบ มั่นคง ไร้ความปรารถนา และปราศจากความสงสัย

(จิตที่หลุดพ้นไม่ทุกข์ เพราะไม่มีความวิตกกังวลเกิดขึ้นจากการครอบครองในทางโลก  ;

ไม่สุข เพราะไม่มีความสมหวังการการได้มาในสิ่งที่ปรารถนา – เขาไม่มีความปรารถนาใด ;

สงบ  เพราะไร้แรงจูงใจ, ไร้การดิ้นรนที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกต้องการ และการแบ่งแยกตัวตนของกายและจิตที่ต่ำกว่า ;

มั่นคง  เพราะจิตที่อยู่ในภาวะสมบูรณ์ไม่มีพฤติอีกต่อไป ;

ไร้ความปรารถนา  เพราะจิตที่หลุดพ้น ไม่เห็นสิ่งคู่ตรงกันข้าม อันก่อให้เกิดความปรารถนาและความสงสัย)

(5 ประการข้างต้นเกิดขึ้นกับผู้บรรลุธรรมเท่านั้น เขาเห็นโลกเป็นเพียงภาพลวงตา)

18.31

จิตของผู้หลุดพ้น ไม่มีความพยายามทั้ง สมาธิ และ การกระทำ แต่มันกลายเป็น สมาธิ และ การกระทำ ที่ปราศจากแรงจูงใจใดๆ

(แนวคิดในเรื่องนี้ คือ จิตที่หลุดพ้นเป็นอิสระจากอัตตาและผลที่จะตามมาทั้งหมด เป็นอิสระจากสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ไม่ชอบซึ่งถูกสร้างจากอัตตา แต่ร่างกายมิได้แตกดับในทันทีที่บรรลุธรรม  ปรารภกรรมของเขายังมีอยู่ และชีวิตยังดำเนินต่อไป จนกระทั่งชีวิตหมดสิ้นอย่างแท้จริง [exhausted] ในระหว่างนี้, การกระทำทั้งหมดของเขาถูกนำไปโดยปรารภกรรมของเขา โดยปราศจากร่องรอยของอัตตาหรือแรงจูงใจภายในตัวเขา แล้วบางครั้งเขาพบว่า การกระทำ, สมาธิ, การไม่กระทำ และอะไรก็ตาม ล้วนเป็นไปโดยที่สภาวะภายในเป็นอิสระสมบูรณ์อย่างสม่ำเสมอ)

18.32

เมื่อได้ฟังสัจธรรม คนที่มืดบอดจะงุนงงอย่างที่สุด, ส่วนบางคนที่ฉลาดเฉียบแหลมจะสามารถหลุดพ้นได้ภายในตัวของเขาเอง และกลายเป็นเหมือนดั่งคนโง่

(เนื่องจากผู้ที่แสวงหาสัจธรรมต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานที่เพียงพอ [ดูได้จากบทที่ 1] หากผู้รับฟังปราศจากคุณสมบัติเช่นนั้นก็จะงุนงงอย่างแน่นอน มีเพียงคนที่ชำระล้างจิตตนเองจากมลทินทั้งหมด จึงเหมาะสมที่จะได้ฟังและเข้าสู่หนทางการบรรลุธรรม)

(ตามที่ได้กล่าวว่า การตระหนักรู้ถึงอาตมันนั้นหาได้ยากยิ่งในโลกนี้ บางทีใน 1000 คน เราอาจพบเพียง 1 คนที่พยายามอย่างหนักเพื่อการรู้แจ้ง  ;และอาจจะมีเพียง 1 ใน 1000 คนที่พยายามนั้น จะสามารถบรรลุธรรมและตระหนักรู้ถึงอาตมันอย่างแท้จริง ดังที่ กฐ-อุปนิษัท (Kathopanishad) กล่าวว่า “พระเป็นเจ้าซึ่งสถิตในกายมนุษย์ได้มอบประสาทสัมผัสที่บกพร่อง ซึ่งเป็นสัมผัสภายนอก, ดังนั้นมนุษย์จึงเห็นแต่ภายนอก ไม่เห็นภายใน มีเพียงบางคนที่ฉลาด ต้องการความเป็นอมตะ ได้เปลี่ยนมุมมอง [ตา] ของเขาเข้าไปภายในและได้สังเกตเห็นอาตมันภายในนั้น”)

(ผู้บรรลุธรรมได้กลายเป็นผู้ที่ไม่ทำอะไรเหมือนคนโง่ๆ  ; อย่างไรก็ดี คนโง่ที่แท้จริงมีภายในที่กระตือรือล้นด้วยความปรารถนาต่อสัมผัส ในขณะที่ผู้รู้แจ้งนั้นมีภายในที่ไม่กระตือรือร้นเพราะเขาปราศจากความปรารถนา)

18.33

ผู้ไม่ตระหนักรู้ ปฏิบัติสมาธิด้วยความมุ่งมั่นและควบคุมจิต ผู้ฉลาดนั้นเป็นไปตามอาตมันที่แท้จริง เขาเหมือนคนที่หลับ, ไม่พบสิ่งใดที่จะต้องกระทำ

(ผู้บรรลุธรรมเหมือนคนที่หลับ  เพราะระหว่างการหลับลึก เราสูญเสียสติทั้งหมดของกายและจิต ; แต่ที่จริงแล้วแม้ในยามตื่น ผู้บรรลุธรรมก็ยังคงแยกออกจากกายและจิต และสถิตในภาวะบรมสุขสมบูรณ์ของอาตมัน)

18.34

ผู้ไม่ตระหนักรู้ ไม่บรรลุความสงบ ทั้งโดยการไม่กระทำ (อกรรม) หรือ โดยการกระทำ (กรรม) แต่ผู้บรรลุธรรมมีความสุขโดยมีเพียงความมั่นใจในสัจธรรม

(การไม่กระทำที่มิได้เกิดจากการตระหนักรู้ถึงอาตมัน แต่เกิดจากการอดกลั้นของจิตและไม่กระทำทางกาย วิธีนี้ไม่เกิดประโยชน์ สภาวะของการตระหนักรู้ถึงอาตมันเป็นภาวะที่ส่องสว่างจากภายใน มิใช่การอดกลั้นไว้)

18.35

ผู้คนในโลกนี้คิดหาวิธีปฏิบัติต่างๆ โดยไม่รู้ว่าอาตมันนั้น บริสุทธิ์ เป็นพุทธิ เป็นที่รัก สมบูรณ์ อยู่เหนือจักรวาลและปราศจากมลทินใดๆ

(ผู้คนที่ยังไม่หมดสิ้นจากการยึดติดกับโลก ไม่รู้ว่าอาตมันเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เป็นที่รักของเรา อาตมันเป็นสิ่งกำหนดความรักของเราไปยังสิ่งต่างๆ บนโลก ดังที่ พฤหัสปติ [Brih] กล่าวว่า “ไม่มีความรักต่อสามีใดเป็นไปเพราะความประสงค์ของสามี ; มันคืออาตมัน ซึ่งประสงค์ให้สามีนั้นถูกรัก” ความรักต่อมวลมนุษยชาติก็คล้ายกันนี้ แต่ผู้โง่เขลาไม่รู้ในสิ่งนี้ และพวกเขาจึงแปรเปลี่ยนไปยึดติดกับสิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากอาตมัน)

18.36

ผู้มีอวิชชาไม่สามารถหลุดพ้นแม้จะบำเพ็ญเพียรซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ผู้บรรลุธรรมที่มีเพียงความรู้, เขาก็เป็นอิสระโดยปราศจากการปฏิบัติใดๆ

(เมื่อตระหนักรู้ถึงอาตมัน การปฏิบัติทางกายภาพและจิตทั้งหมดก็ได้ถึงจุดจบ เพราะเขาได้ออกจากอวิชชาแล้ว)

18.37

ผู้มีอวิชชาไม่บรรลุถึงพรหมัน เพราะเขาปรารถนาต่อการบรรลุนั้น แต่ผู้บรรลุธรรมตระหนักถึงธรรมชาติของพรหมันสูงสุด เขาจึงบรรลุถึงพรหมันอย่างแน่นอน แม้ว่าเขามิได้ปรารถนา

(แนวคิดคือ ความปรารถนาที่จะเป็นพรหมัน เติบโต จากความรู้สึกแบ่งแยกจากพรหมัน ซึ่งเป็นการปฏิเสธธรรมชาติที่แท้จริงว่า “เราคือพรหมันอยู่เสมอ” ตราบเท่าที่มีความปรารถนา ความสำเร็จก็จะเป็นไปไม่ได้ บุคคลจะต้องละทิ้งแม้แต่ความปรารถนาที่จะเป็นอิสระ เพื่อที่จะบรรลุอิสระนั้น เราถูกผูกพันธะได้โดยง่าย เพราะเราคิดว่าตัวเราเองเป็นเช่นนั้น)

18.38

หากไร้การสนับสนุนหรือความกระตือรือร้นที่จะหลุดพ้น (บรรลุถึงอิสระ), ผู้มีอวิชชาจะยังสงวนรักษาโลกไว้ แต่ผู้บรรลุธรรมจะถอนรากถอนโคนของโลก ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ทั้งปวง

(การตระหนักรู้ถึงอาตมันเป็นพื้นฐานของชีวิตที่แท้จริง, ผู้มีอวิชชาไม่มีสิ่งนี้, และความไม่มีนี้ได้แพร่หลายไปจึงพบได้มาก)

(ผู้มีอวิชชาคิดและประพฤติต่อโลกว่าเป็นสิ่งจริง และพยายามกำจัดมัน โลกนั้นเป็นจริงโดยง่ายเพราะเราคิดว่าเป็นเช่นนั้น เมื่อมุมมองของเราเปลี่ยนไป และเรามองไปบนโลกว่ามิได้แตกต่างไปจากอาตมัน, โลกก็หยุดที่จะผูกพันธะกับเรา)

(รากของโลกที่กล่าวในโศลกนี้ก็คืออวิชชานั่นเอง)

 

18.39

ผู้โง่เขลาปรารถนาความสงบ และไม่ได้รับมัน แต่ผู้บรรลุธรรมรู้ในสัจธรรมและมีจิตที่สงบอยู่เสมอ

(เราไม่พบความสงบง่ายๆ เพราะเราละเลยความจริงของธรรมชาติที่ว่า “อาตมันสงบด้วยตัวมันเอง” เพราะความปรารถนาความสงบนั้นเกิดจากอวิชชา, ตราบเท่าที่ยังมีความปรารถนาความสงบ, ต้องมีอวิชชา, ดังนั้นจึงไม่สามารถบรรลุความสงบ)

18.40

ความรู้ในอาตมัน (Self-knowledge) ของคนที่เอาความรู้ไปขึ้นอยู่กับวัตถุนั้นคืออะไร? ผู้บรรลุธรรมไม่เห็นสิ่งนี้ เขาเห็นเพียงอาตมันซึ่งไร้การเปลี่ยนแปลง

(การเอาความรู้ไปขึ้นอยู่กับวัตถุมันเป็นการเปรียบเทียบและไม่สมบูรณ์ เพราะเป็นสิ่งคู่ตรงข้าม ; ความรู้แห่งการเปรียบเทียบขึ้นอยู่กับ 3 องค์ประกอบ ผู้รู้ สิ่งที่รู้ และการรู้ แต่สามสิ่งนี้จะหายไปในความรู้ที่สมบูรณ์)

(ผู้บรรลุธรรมไม่เห็น  3 องค์ประกอบทางวัตถุของความรู้  เพราะผู้บรรลุธรรมก้าวข้ามพันธะซึ่งทำให้เกิดความซับซ้อน)

Ashtavakra Kita (in thai) by Tandhava

Get carried away?

ความรู้เรื่องอัชฌตวกระคีตาเพิ่มเติม

บทก่อนหน้า

previous

กลับไปสารบัญ

index

บทถัดไป

next